ชื่อเครื่องยา โกฐสอ ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ได้จาก รากแห้ง ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา โกฐสอ ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) แป๊ะลี้(จีน) ชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica dahurica Benth. ชื่อพ้อง Callisace dahurica Franch & Sav. Angelica macrocarpa H.Wolff. Angelica porphyrocaulis Nakai & Kitag ชื่อวงศ์ Umbelliferae
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา: เครื่องยาชนิดนี้มีลักษณะกลมยาวคล้ายหัวผักกาด แต่มีขนาดเล็กกว่า และแข็งกว่ามาก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2 ซม ยาวราว 10-25 ซม มีขนาดต่างๆ ผิวสีน้ำตาล มีรอยย่นๆและมีสัน ที่เปลือกมีประที่มีชันอยู่ เนื้อในมีสีขาวนวล มีจุดเล็กๆซึ่งเป็นชันหรือน้ำมันระเหยง่ายทำให้มีกลิ่นหอม มีรสเผ็ดร้อนและขมมัน
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี: ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 3% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 25% w/w ปริมาณสาร imperatorin ไม่น้อยกว่า 0.08% w/w
สรรพคุณ: ตำรายาไทย: ใช้แก้ไข้ แก้หืด แก้ไอ ทำหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้เสมหะเป็นพิษ แก้สะอึก แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไข้จับสั่น จีนนิยมใช้ยานี้มานานแล้ว โดยมักใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด แก้ปวดหัว โพรงจมูกอักเสบ แก้ปวดฟัน แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้อาการทางผิวหนังต่างๆ เช่น แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บวม แก้ริดสีดวงจมูกโดยเตรียมเป็นยานัตถุ์ จีนถือว่ายานี้เป็นยาเฉพาะสตรี จึงใช้ยานี้เป็นยาเกี่ยวกับระดู เช่น ใช้แก้ตกขาว อาการปวด บวมแดง นอกจากนั้นยังใช้ผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าหลายชนิด นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้โกฐสอในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย รวม 6 ตำรับ คือ 1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับยาหอมเทพจิตร และตำรับ ยาหอมนวโกฐ มีส่วนประกอบของโกฐสออยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง 2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ ยาธาตุบรรจบ มีส่วนประกอบของโกฐสอร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ตำรับยาประสะกานพลู มีส่วนประกอบของโกฐสอร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ 3.ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ ยาจันทน์ลีลา และตำรับ ยาแก้ไขห้าราก มีส่วนประกอบของโกฐสอร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู ตำรับยาสมุนไพรล้านนา: ยาเม็ดขี้กระต่าย มีรสขม ใช้รักษาโรคเลือดเป็นพิษ หัด สุกใสและร้อนใน ประกอบโกฐสอ และสมุนไพรต่างๆ คือ โกฐสอ บอระเพ็ด บัวบก เกสรบับ 6 อย่าง เทียนดำ เทียนแดง อย่างละเท่ากัน ตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์: ยาจิตรการิยพิจรูญ ระบุว่าใช้แก้ริดสีดวงผอมเหลือง ท้องรุ้งพุงมาน จุกกระผามม้ามเรื้อย(อาการม้ามโต) มองคร่อ หืด ไอ ลมอัมพาต และลมอื่นๆทั้งหลาย มีองค์ประกอบของสมุนไพรรวม 25 อย่าง รวมทั้งโกฐสอด้วย โกฐสอเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศจีน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า พิกัดโกฐ โกฐสอจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) โกฐทั้งเจ็ด(สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ) สรรพคุณโดยรวมของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก เครื่องยาพิกัดโกฐ ประกอบด้วย พิกัดโกฐทั้ง 5 ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต พิกัดโกฐทั้ง 7 (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก พิกัดโกฐทั้ง 9 (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา: ยาผง ขนาดยาวันละ 3-9 กรัม (น้ำหนักยาผง)
องค์ประกอบทางเคมี: สารกลุ่มคูมาริน เช่น byakangelicin, byakangelicol, imperatorin, oxypeucedanin, phellopterin สารกลุ่ม polyacetylenic, ferulic acid
การศึกษาทางเภสัชวิทยา: มีรายงานวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ต้านการเต้นผิดปกติของหัวใจหนู มีฤทธิ์คลายความกังวล ป้องกันสมองเสื่อม ฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ต้านการอักเสบ ปกป้องตับ ต้านการก่อเกิดเนื้องอก มีฤทธิ์ทำให้หลับ มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ฯลฯ
การศึกษาทางคลินิก: ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา: ไม่มีข้อมูล
อ้างอิง - ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
|