ชื่อเครื่องยา โกฐหัวบัว ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ได้จาก เหง้าแห้ง ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา โกฐหัวบัว ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ligusticum sinense Oliv. cv.Chuanxiong Hort ชื่อพ้อง Ligusticum chuanxiong Hort, Ligusticum wallichii auct.non Franch. ชื่อวงศ์ Umbelliferae
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา: เหง้าหนา ค่อนข้างกลม ข้อป่อง ปล้องสั้น ตัดเอารากแขนงออกหมด จะได้เหง้ารูปคล้ายกำปั้น ผิวตะปุ่มตะป่ำไม่สม่ำเสมอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-7 เซนติเมตร ผิวนอกสีน้ำตาลอมเหลือง สาก เหี่ยวย่น เนื้อแน่น หักยาก รอยหักสีขาวอมเหลืองหรือสีเหลืองอมเทา มีท่อน้ำมันสีน้ำตาลอมเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป มีกลิ่นหอมรุนแรง ฉุน รสขม มัน แต่จะหวานภายหลัง และชาเล็กน้อย
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี: ปริมาณความชื้นไม่เกิน 10% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 15% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 10% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 9% w/w
สรรพคุณ: ตำรายาไทย: เหง้า แก้ลมในกองริดสีดวง กระจายลมทั้งปวง (หมายถึงลมที่คั่งอยู่ในลำไส้เป็นตอนๆทำให้ผายออกมา) ขับลม แก้ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกระดูก จีนใช้โกฐหัวบัวเป็นยาแก้หวัด แก้ปวดศีรษะ แก้โรคโลหิตจาง แก้ปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปรกติ ปวดเจ็บต่างๆรวมทั้งปวดฟัน อาเจียนเป็นเลือด ไอ วัณโรค โรคเข้าข้อ ตกเลือด นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้โกฐหัวบัวในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับยาหอมเทพจิตร และตำรับ ยาหอมนวโกฐ มีส่วนประกอบของโกฐหัวบัวอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง โกฐหัวบัวเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดแถบมนฑลเสฉวนของประเทศจีน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า พิกัดโกฐ โกฐหัวบัวจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก เครื่องยาพิกัดโกฐ ประกอบด้วย พิกัดโกฐทั้ง 5 ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต พิกัดโกฐทั้ง 7 (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก พิกัดโกฐทั้ง 9 (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย ตำรายาไทย: มีการใช้โกฐหัวบัวใน พิกัดจตุวาตะผล คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ลม ประกอบด้วยผล 4 อย่าง คือ เหง้าขิงแห้ง กระลำพัก อบเชยเทศ และโกฐหัวบัว มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้พรรดึก แก้ตรีสมุฏฐาน ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ลมกองริดสีดวง ตำราพระโอสถพระนารายณ์: ตำรับ มโหสถธิจันทน์ มีส่วนประกอบรวม 16 สิ่ง รวมทั้งโกฐหัวบัวด้วย มีสรรพคุณแก้ไข้ทุกชนิด ตำรับ ยาทรงนัตถุ์ ขนานหนึ่งประกอบด้วยสมุนไพร 15 ชนิด รวมทั้งโกฐหัวบัวด้วย โดยนำตัวยาทั้งหมดบดเป็นผงละเอียดรวมกัน ใช้สำหรับนัตถุ์ ใช้ดมแก้ปวดหัว แก้วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา: ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี: โกฐหัวบัวมีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ราวร้อยละ ๒ ในน้ำมันนี้มี cnidium lactone , cnidic acid และมีชันที่มีรสเปรี้ยว นกจากนั้นยังมีสารพวก phthalide อีกหลายชนิด เช่น ligustilide , neocni-dilide , wallichilide , 3-butylidine-7-hydroxyphthalide , senkyunolide A , butylidenephthalide , butylpthalide, ferulic acid, tetramethylpyrazine, perlolyrine, spathulenol, crysophanol, sedanonic acid
การศึกษาทางเภสัชวิทยา: มีรายงานการวิจัย พบว่าลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้และมดลูก ป้องกันการขาดออกซิเจนในเลือด ต้านปวด ต้านการอักเสบ ขับประจำเดือน ขับเหงื่อ และช่วยทำให้ระยะเวลานอนหลับได้นานขึ้น
การศึกษาทางคลินิก: ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา: ไม่มีข้อมูล
อ้างอิง - ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
|