|
ชื่อเครื่องยา กานพลู ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ได้จาก ดอกตูม (ดอกที่โตเต็มที่ แต่ยังไม่บาน) ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา กานพลู (Clove) ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) จันจี่ (เหนือ) ดอกจันทร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum Merr. et Perry ชื่อพ้อง Eugenia caryophylla Thunb., Eugenia caryophylla (Spreng.) Bullock et Harrison, Eugenia aromatica (L.) Baill. Caryophyllus aromaticus L. ชื่อวงศ์ Myrtaceae
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา: ดอกตูม ความยาว 1-2 เซนติเมตร สีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลดำ ส่วนล่างของดอก (hypantium) มีลักษณะแข็ง ทรงกระบอก ที่มีความแบนทั้ง 4 ด้าน มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 4 อัน รูปสามเหลี่ยม อยู่สลับหว่างกับกลีบดอก 4 กลีบ ลักษณะเป็นแผ่นบางรวมอยู่ตรงกลาง ข้างในดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้จำนวนมาก และเกสรตัวเมีย 1 อัน ผงยามีสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นเฉพาะ หอมแรง เป็นยาร้อน มีรสเผ็ดร้อน ฝาด ทำให้ลิ้นชา
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี: ข้อมูลจาก WHO กำหนดปริมาณความชื้นไม่เกิน 12% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมในดอกที่บานแล้ว ผลและก้านดอก ไม่เกิน 4% w/w และดอกตูมที่เสียแล้วไม่เกิน 2% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ไม่เกิน 0.5% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 0.5% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 15% w/w เภสัชตำรับอินเดีย ระบุว่าปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 3% w/w ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ ไม่น้อยกว่า 9% w/w เภสัชตำรับของญี่ปุ่นกำหนดให้มีปริมาณสาร eugenol ไม่น้อยกว่า 12.8 % w/w
สรรพคุณ: ตำรายาไทย ดอก รสเผ็ด กระจายเสมหะ แก้เสมหะเหนียว แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน ดับกลิ่นปาก แก้หืด เป็นยาทำให้ร้อนเมื่อถูกผิวหนังทำให้ชา เป็นยาฆ่าเชื้อ แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด แก้ปวดท้อง มวนในลำไส้ แก้ลม แก้เหน็บชา แก้พิษโลหิต พิษน้ำเหลือง ขับน้ำคาวปลา ทำอุจจาระให้ปกติ แก้ธาตุทั้ง 4 พิการ แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แก้ท้องเสีย ขับผายลม กดลมให้ลงสู่เบื้องต่ำ แก้สะอึก แก้ซางต่างๆ ขับระดู น้ำมันกานพลู (Clove oil) เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวดฟัน โดยใช้สำสีชุบนำมาอุดที่ฟัน ระงับการกระตุก ตะคริว ขับผายลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด ผสมยากลั้วคอ แต่งกลิ่นอาหาร แต่กลิ่นสบู่ ยาสีฟัน ดับกลิ่นปาก ดับกลิ่นเหล้า ไล่ยุง ตำรายาไทย: มีการใช้กานพลูในหลายตำรับ ตัวอย่างเช่น ใน พิกัดตรีพิษจักร คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร 3 อย่าง มี ผลผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ และกานพลู สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต พิกัดตรีคันธวาต คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม 3 อย่าง มี ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ และกานพลู มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีการใช้กานพลู ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏในตำรับยาหอมเทพจิตร และตำรับ ยาหอมนวโกฐ โดยมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ประกอบด้วย ยาธาตุบรรจบ มีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ และตำรับ ยาประสะกานพลู มีกานพลูเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา: 1. แก้อาการ ท้องอืดเฟ้อ ขับลม ในผู้ใหญ่- ดอกตูม 4-6 ดอกใช้ทุบให้ช้ำ ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอก ต้มน้ำพอเดือด ดื่มแต่น้ำ ถ้าบดเป็นผง 0.12-0.6 กรัม ชงน้ำสุกดื่ม เด็กอ่อน- ใช้ดอกแห้ง 1 ดอก ทุบแช่ไว้ในน้ำเดือด 1 กระติก (ความจุราวครึ่งลิตร) สำหรับชงนมใส่ขวดให้เด็กดูด แก้ท้องอืด 2. แก้ปวดฟัน ใช้น้ำมันที่ได้จากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้ จุ่มน้ำมันจิ้มลงในรูที่ปวดฟัน และใช้แก้โรครำมะนาด หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยว แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด หรือใช้ดอกกานพลูตำพอแหลกผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะใช้จิ้ม หรืออุดที่ปวดฟัน 3. ระงับกลิ่นปาก ใช้ดอกตูม 2-3 ดอก อมไว้ในปาก จะช่วยทำให้ระงับกลิ่นลง องค์ประกอบทางเคมี: กานพลูมีน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 14-23 ของน้ำหนักแห้ง มีองค์ประกอบหลักเป็นสารชื่อ ยูจีนอล (eugenol) ปัจจุบันนำมาใช้ทางทันตกรรม และใช้แก้ปวดฟัน น้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วยสาร eugenol (60-95%), eugenol acetate (2-27%), ?- และ ?-caryophyllene (5-10%), caryophyllene epoxide, benzyl alcohol, benzaldehyde, 1,8-cineol, humulene, humulene epoxide, carvacrol, thymol, cinnamaldehyde, trans-isoeugenol, eugenol, dehydrodieugenol และ trans-coniferyl aldehyde สารกลุ่ม flavonoids: quercetin, kaempferol, biflorin, rhamnocitrin, myricetin, rhamnetin, eugeniin สารกลุ่ม tannins: gallotannic acid 13%, gallic acid, ellagic acid, protocatechuic acid สารกลุ่ม terpenoids: oleanolic acid, crategolic acid สารอื่นๆ: polysaccharides, 5,7-dihydroxy-2-methylchromone 8-O- ?-D-glucopyranoside, vanillin, chromone ชื่อ eugenin
การศึกษาทางเภสัชวิทยา: ฤทธิ์ต่อหัวใจและหลอดเลือด: สูตรตำรับที่มีกานพลูพบว่าสามารถป้องกันหัวใจหนูจากการขาดเลือดด้วยสาร isoproterenol โดยมีกลไกต้านอนุมูลอิสระ สารพอลิแซ็กคาไรด์มีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดอุดตัน สาร acetyl eugenol และ eugenol มีฤทธิ์ป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ฤทธิ์ต้านจุลชีพ: กานพลูมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและลบ และเชื้อราหลายชนิด ผงยา สารสกัดแอลกอฮอล์ และสารสกัดน้ำมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและลบหลายชนิด ได้แก่ เชื้อก่อหนอง (Staphylococcus aureus), เชื้อวัณโรค (Mycobacterium tuberculosis) สารสกัดแอลกอฮอล์ 50% มีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ก่อเกิดโรค ได้แก่ เชื้อกลาก (Trichophyton mentagrophytes), เชื้อรา Candida albicans, Saccharomyces pastorianus เป็นต้น สารสกัดเมทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อก่อเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Helicobacter pylori) สาร eugenol มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อก่อเกิดหนอง เชื้อก่อเกิดสิว (Propionibacterium acnes), เชื้อ Pseudomonas aeruginosa เชื้อก่อเกิดอุจจาระร่วง (Escherichia coli, Salmonella pullorum) และเชื้อกลาก (Microsporum canis, Trichophyton mentagrophytes, T rubum) สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ต้านเชื้อเริม ชนิด HSV-1, เชื้อหัด และเชื้อโปลิโอ ในหลอดทดลองและในหนู สารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อเริมคือ สาร eugenol และสาร eugeniin น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida albicans สาร kaempferol และ myricetin มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ฤทธิ์ต้านการอักเสบ: สารสกัดเมทานอลและสาร eugenol มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในสัตว์ทดลองโดยมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase และ lipoxygenase และมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร prostaglandin และ thromboxane ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้สาร eugenol และ isoeugenol มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดได้ดีกว่ายาแอสไพริน และฤทธิ์การยับยั้งนี้จะเพิ่มมากขึ้นถ้าใช้สารทั้งสองร่วมกัน ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น: สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์และไดคลอโรมีเทน มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นได้ดี และฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดเมทานอล สารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ สาร eugenol น้ำมันกานพลูมีฤทธิ์ปกป้องตับจากสารอะฟลาทอกซิน โดยมีกลไกต้านออกซิเดชั่น ฤทธิ์ต้านมะเร็ง: ชาชงกานพลูมีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดในหนู โดยมีกลไกทำให้เซลล์ตายแบบ apoptosis และยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง (anti-proliferative) และมีผลยับยั้งการก่อเกิดมะเร็งผิวหนังในหนู สารกลุ่ม triterpenoids (oleanolic acid, crategolic acid) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง สารสกัดเมทานอล สาร trans-isoeugenol , eugenol, dehydrodieugenol และ trans-coniferyl aldehyde มีฤทธิ์ต้านการก่อเกิดมะเร็งในหลอดทดลอง ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด: กานพลูมีฤทธิ์คล้ายอินซูลินในการลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ: สารสกัดแอลกอฮอล์ 50% มีฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศของหนูเพศผู้ปกติ ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่: สาร ?-caryophyllene มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ทั้งการศึกษาในสัตว์ทดลองและหลอดทดลอง ฤทธิ์ต่อเอนไซม์ cytochrome P450: กานพลูมีผลต่อเอนไซม์ cytochrome P450 ชนิด 2C9 และ 2D6 เล็กน้อย ซึ่งมีผลต่อการเผาผลาญของยาอื่นๆที่ใช้ร่วมกันได้ ฤทธิ์อื่นๆ: น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านการบีบตัวของหลอดลมและลำไส้หนู การฉีดสาร eugenol และ caryophyllene เข้าเส้นเลือดดำหนู ในขนาดยาสูง (200-400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ทำให้เกิดเสพติดและการให้ขนาดยาที่ต่ำ (1-100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) จะทำให้สงบ สาร ?-caryophyllene มีฤทธิ์ชาเฉพาะที่และสาร eugenol มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัวและต้านการอาเจียน (นพมาศและนงลักษณ์, 2551) มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาการปวดท้องลดลง ช่วยขับน้ำดี ลดอาการจุกเสียดที่เกิดจากการย่อยไม่สมบูรณ์ และฆ่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น เชื้อไทฟอยด์ บิดชนิดไม่มีตัว กระตุ้นการหลั่งเมือก และลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร
การศึกษาทางคลินิก: ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา: การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดดอกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 16,667 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ แต่เมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 6.184 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ข้อควรระวัง: ไม่ควรใช้ดอกกานพลูในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยโรคตับไต และผู้ป่วยเบาหวาน
ปฏิกิริยาระหว่างยา: กานพลูในปริมาณมากทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ฉะนั้นต้องระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin , aspirin, heparin ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs; ibuprofen), สมุนไพรหรือยาที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และยาลดน้ำตาลในเลือด (insulin, metformin) (นพมาศและนงลักษณ์, 2551)
อ้างอิง - ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
| |