ชื่อเครื่องยา กระชาย ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ได้จาก เหง้า และราก ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา กระชาย ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) หัวละแอน ขิงแดง ขิงทราย ขิงกระชาย กะแอน ระแอน ว่านพระอาทิตย์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia pandurata Holtt. ชื่อพ้อง Boesenbergia rotunda (Linn.) Mansf., Kaempferia pandurata Roxb., Gastrochilus panduratum (Roxb.)Ridl. ชื่อวงศ์ Zingiberaceae
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา: เหง้าสั้น(เรียก กระโปกกระชาย) มีรากสด แตกออกจากเหง้าเป็นกระจุกจำนวนมาก อวบน้ำ ตรงกลางพองกว่าส่วนหัวและท้าย รูปทรงกระบอก ปลายเรียวแหลม (เรียก นมกระชาย) กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-10 ซม. ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลือง มีรสเผ็ดร้อน ขม กลิ่นหอมฉุน
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี: น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าและราก เป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว
สรรพคุณ: ตำรายาไทย: เหง้า ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้ปวดมวนท้อง ขับลม ช่วยให้กระเพาะ และลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น แก้โรคอันเกิดในปาก แก้มุตกิด แก้ลมอันบังเกิดแต่กองหทัยวาต แก้ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากแตกเป็นแผล แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิดมูกเลือด แก้ปวดเบ่ง รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ บำรุงกำลัง ช่วยเจริญอาหาร ขับระดูขาว แก้ใจสั่น ราก(นมกระชาย) แก้กามตายด้าน ทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงความกำหนัด มีสรรพคุณคล้ายโสม หมอโบราณเรียกว่า โสมไทย หัวและราก ขับปัสสาวะ แก้กระษัย เบาเหลือง แดง เจ็บปวดบั้นเอว บำรุงกำหนัด บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ใจสั่นหวิว ขับปัสสาวะ หัวใช้เผาไฟฝนรับประทานกับน้ำปูนใส เป็นยาแก้บิด แก้โรคบังเกิดในปาก แก้มุตะกิต ตำรายาแผนโบราณของไทย: มีการใช้กระชายใน พิกัดตรีกาลพิษ คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้พิษตามกาลเวลา 3 อย่าง มีรากกะเพราแดง เหง้าข่า และหัวกระชาย สรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงความกำหนัด แก้ไข้สันนิบาต แก้เลือด เสมหะ แก้กามตายด้าน ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา: ใช้เหง้า แก้โรคบิด โดยนำเหง้าย่างไฟให้สุกแล้วโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำปูนใส รับประทานทั้งน้ำและเนื้อ ครั้งละครึ่งแก้ว เช้า เย็น และใช้เหง้าแก้กลากเกลื้อน โดยนำเหง้ามาโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงทาบริเวณที่เป็นแผล ตำรายาพื้นบ้านล้านนา: ใช้เหง้า รักษาโรคทางดินปัสสาวะอักเสบ กลากเกลื้อน ท้องอืดเฟ้อ รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา: 1.แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง
ใช้เหง้า หรือรากประมาณครึ่งกำมือ(น้ำหนักสด 5-10 กรัม แห้ง 3-5 กรัม) ทุบพอแตกต้มกับน้ำพอเดือด ดื่มแต่น้ำ หรือปรุงอาหารรับประทาน 2.แก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกหรืออาจมีเลือดด้วย) ใช้เหง้าหรือหัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม องค์ประกอบทางเคมี: พบน้ำมันระเหยง่าย 0.08% ประกอบด้วย 1,8 cineol, boesenbergin A, dl-pinostrobin, camphor, cardamonin, panduratin นอกจากนี้ยังพบสาร flavonoid และ chromene เช่น, 6- dihydroxy 4 methoxychalcone, pinostrobin, pinocembin การศึกษาทางเภสัชวิทยา: ลดการเคลื่อนไหวลำไส้เล็กของหนูขาว ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดีกว่าราและยีสต์ ฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคที่ผิวหนัง และในปากได้ดีพอควร การศึกษาทางคลินิก: ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา: ไม่พบพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร
อ้างอิง - ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
|